เนื้อหา ของ เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

เริ่มต้นว่าด้วยกำเนิดมนุษย์ ชาติภาษา พร้อมแนะนำตัวผู้เขียน “ข้าน้อยผู้ได้นามบัญญัติชื่อว่า ศรีจุฬาลักษณ์” เล่าถึงกำเนิดอาณาจักรและ จากนั้นก็สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระร่วงเจ้า เล่าถึงผู้คน ชาติตระกูลในสุโขทัย และมาถึงประวัติส่วนตัวของนางนพมาศ

พระมโหสถ พราหมณ์ บิดาของนางนพมาศได้เล่านิทานสอนใจแก่นางสามสี่เรื่อง จากนั้นนางเรวดี มารดา ให้โอวาทสอนมารยาท แล้วนำไปถวายตัวพระร่วงเจ้า

ช่วงต่อมานางนพมาศเล่าถึงพิธีพราหมณ์ทั้งสิ้น 12 พิธี เริ่มตั้งแต่เดือน 12 พิธีจองเปรียง (เดือนอ้าย เดือนยี่ จนถึงเดือนสิบเอ็ด พิธีอาชยุศ ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “ว่าด้วยความประพฤติแห่งนางสนม” เรื่องกิริยามารยาทต่างๆ

ในพิธีแรก (คือเดือนสิบสองไทย) เรียกว่า พิธีจองเปรียง “วันเพ็ญเดือน 12 เป็นนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม” ผู้คนพากันแต่งโคมชักโคมแขวนโคมลอยทั่วพระนคร ทำโคมตกแต่งลวดลาย มาชักมาแขวนเรียงรายตามแนวโคมชัยเสาระหงหน้าพระที่นั่ง มีมหรสพด้วย นางนพมาศทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท (ดอกบัว) จุดประทีปเปรียง (คือ ใส่น้ำมันไขข้อโค) มีจุดดอกไม้ไฟ จุดพะเนียงพลุสว่างไสวไปหมด ในหนังสือเล่าต่อว่า “อันว่าโคมลอยรูปดอกกระมุทก็ปรากฏมาจนเท่าทุกวันนี้ แต่คำโลกสมมุติเปลี่ยนชื่อเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป” [4]

สำหรับใน พิธีจองเปรียงนี้ ได้กล่าวถึงโคมลอยโคมชัก โคมปักโคมห้อย (เช่นเดียวกับพระราชพิธีจองเปรียง ในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน) เพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสักการะพระมหาเกตุธาตุจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิงตามพระอารามหลวงริม ฝั่งแม่น้ำทั่วพระนคร